Anti-Corruption Policy

บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณของบริษัทฯ และตามหลักการสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทฯ บริษัทฯ ตระหนักว่าการคอร์รัปชั่นถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้จัดทำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ ตลอดจนมาตรการในการดำเนินการ ดังนี้

คำนิยามตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น

การคอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การกระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ (offering) การให้คำมั่นสัญญา (promising) การขอ (soliciting) การเรียกร้อง (demanding) การให้หรือรับ (giving or accepting)  ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ ยกเว้นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นหรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

การช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contribution) หมายถึง การช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือในรูปแบบอื่น (in-kind) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เช่น การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริม หรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดเพื่อระดมทุนหรือบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง เป็นต้น

นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น

กรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงาน จะไม่กระทำหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยครอบคลุมถึงธุรกิจของบริษัทฯ  ในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โดยบริษัทฯ ได้กำหนด แนวปฏิบัติ มาตรการดำเนินการและบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ตลอดจนจัดให้มีการสอบทานและทบทวนการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

นอกเหนือจากการปฏิบัติตามนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ โดยเคร่งครัดแล้ว บริษัทฯ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ คณะกรรมการชุดย่อย และฝ่ายจัดการ ดังนี้

  1. คณะกรรมการบริษัทฯ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายกำกับดูแล ติดตาม รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการนำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ไปปฏิบัติ
  2. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทบทวนนโยบายตามความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้ความเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงเพื่อเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัทฯ รวมถึงให้ความเห็นและข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจัดการในการจัดทำแผนงานและการนำมาตรการไปปฏิบัติ
  3. คณะกรรมการตรวจสอบ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ตามมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งรายงานทางการเงิน ระบบการควบคุมภายในและ งานตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องตามระเบียบปฏิบัติและมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดี
  4. ฝ่ายจัดการ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำนโยบายฯ ไปปฏิบัติสนับสนุนทรัพยากร สื่อสารและส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจในนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทในเครือ พิจารณานำนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ไปใช้หรือประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ตลอดจนนำความเห็นและข้อแนะนำของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยไปปฏิบัติ รวมถึงการทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ การรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือคณะกรรมการชุดย่อยตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

แนวปฎิบัติ

  1. การดำเนินการตามนโยบายนี้ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้ในคู่มือหลักการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ รวมทั้ง ระเบียบข้อบังคับและคู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ
  2. ในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดคอร์รัปชั่น บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องต่อไปนี้ด้วยความระมัดระวัง

2.1 ความเป็นกลางและการช่วยเหลือทางการเมือง (Political contribution) บริษัทฯ มีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง โดยจะไม่ให้การสนับสนุนหรือการกระทำอันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรวมถึงการใช้ทรัพยากรของบริษัทฯ ในกิจกรรมที่จะทำให้บริษัทฯ สูญเสียความเป็นกลางทางการเมืองและ/หรือได้รับความเสียหายจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมดังกล่าว

2.2 การบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน (Charitable contribution and Sponsorship) บริษัทฯ มีนโยบายที่จะควบคุมดูแลการบริจาคเพื่อการกุศลหรือการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะไม่เป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่น โดยการกำหนดขั้นตอนและการควบคุมที่ชัดเจนรัดกุมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสอบทานและติดตามเอกสารหลักฐานต่างๆ ได้

2.3 การให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่น (Gifts, Hospitality and Expenses)

บริษัทฯ กำหนดให้การให้ มอบ หรือรับของขวัญ ของกำนัลและการเลี้ยงรับรอง ต้องเป็นไปตามการกระทำในวิสัยทีสมควร ตามขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ แต่ต้องไม่มีมูลค่าเกินสมควร  และไม่เป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ  ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตและคอร์รัปชั่น

มาตราการดำเนินการ

  1. กรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น หลักการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณของบริษัทฯ โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  2. พนักงานไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่น โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ หรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบบริษัทฯ
  3. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและความคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัทฯ โดยจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบและบริษัทฯ จะดำเนินการ ตามมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชั่นโดยเคร่งครัด ตามที่กำหนดในนโยบายและระเบียบวิธีปฏิบัติด้านบุคคลและ/หรือมาตรการการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสของบริษัทฯ
  4. ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของบริษัทฯ จะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบบริษัทฯ ที่กำหนดไว้และอาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  5. บริษัทฯ สื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะภายในบริษัทฯ ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การปฐมนิเทศกรรมการและพนักงาน จดหมายข่าว เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ
  6. บริษัทฯ สื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะให้แก่สาธารณชน และ ผู้มีส่วนได้เสียผ่านวิธีการต่างๆ เช่น เว็บไซต์บริษัทฯ รายงานประจำปี เป็นต้น
  7. บริษัทฯ จัดให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น โดยมีการประเมินความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าของมาตรการที่ได้ดำเนินไปแล้ว
  8. บริษัทฯ จัดให้มีกระบวนการบริหารงานบุคคลที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง การจัดโครงสร้างองค์กรให้มีการแบ่งแยกหน้าที่งานอย่างเหมาะสมให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลตลอดจนการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรและบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอและเหมาะสมต่อการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ
  9. บริษัทฯ จัดให้มีระเบียบกำหนดอำนาจอนุมัติรายการธุรกิจ (Corporate Authorization Procedure) ที่ชัดเจน รัดกุม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
  10. บริษัทฯ จัดให้มีระบบการควบคุมภายในซึ่งครอบคลุมด้านการเงิน การบัญชี การเก็บบันทึกข้อมูล รวมถึงกระบวนการอื่นภายในบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นและมีการสื่อสารผลการควบคุมภายในให้บุคลากรที่รับผิดชอบทราบ

บริษัทฯ จัดให้มีการตรวจสอบระบบงานภายใน ครอบคลุมกิจกรรมที่สำคัญของบริษัทฯ อาทิ การดำเนินงานด้านพาณิชย์ การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการควบคุมภายในจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นตามระเบียบวิธีปฏิบัติงาน ข้อกำหนด กฎระเบียบและให้คำแนะนำในการพัฒนาปรับปรุงระบบการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น